ความหมายของการประเมินหลักสูตร นักการศึกษาหลายท่านได้ให้ความหมายของการประเมินหลักสูตรไว้ต่างๆกันดังนี้
ลี ครอนบาค (Lee
Cronbach, 1970) ให้ความหมายว่า การประเมินหลักสูตรคือ
การรวบรวมข้อมูลและการใช้ข้อมูลเพื่อตัดสินใจในเรื่องโปรแกรมหรือหลักสูตรการศึกษา
สตัฟเฟิลบีมและคณะ (Stufflebeam;
et al., 1971) ให้ความหมายของการประเมินหลักสูตรไว้ว่า
การประเมินหลักสูตรคือ กระบวนการหาข้อมูล เก็บข้อมูล
เพื่อนำมาใช้เป็นประโยชน์ในการตัดสินหาทางเลือกที่ดีกว่าเดิม
สุมิตร คุณานุกร (2523)
กล่าวถึงการประเมินหลักสูตรไว้ว่า การประเมินหลักสูตรคือการหาคำตอบว่าหลักสูตรสัมฤทธิ์ผลตามที่กำหนดไว้ในจุดมุ่งหมายหรือไม่มากน้อยเพียงใด
และอะไรเป็นสาเหตุการประเมินหลักสูตรเพื่อตัดสินสัมฤทธิ์ผลของหลักสูตรนั้น
มีขอบเขตรวมถึง การวิเคราะห์ตัวหลักสูตร การวิเคราะห์กระบวนการการนำหลักสูตรไปใช้
การวิเคราะห์สัมฤทธิ์ผลทางการเรียนของนักเรียน การวิเคราะห์โครงการประเมินหลักสูตร
จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่านักการศึกษาได้ให้ความหมายไว้ 2 ลักษณะ คือ
ความหมายแรกเป็นการให้ความหมายในแง่ที่เกี่ยวกับสิ่งที่ต้องการทำประเมิน
และความหมายที่ 2 จะให้ในแง่ของกระบวนการประเมินผล
ส่วนความหมายของการประเมินผลหลักสูตรก็หมายถึงการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล
แล้วนำข้อมูลมาใช้ในการตัดสินหาขอบกพร่องหรือปัญหา เพื่อหาทางปรับปรุงแก้ไข
จุดมุ่งหมายของการประเมินหลักสูตร
1 เพื่อหาทางปรับปรุงแก้ไขสิ่งบกพร่องที่พบในองค์ประกอบต่างๆของหลักสูตร
การประเมินผลในลักษณะนี้มักจะดำเนินในช่วงที่การพัฒนาหลักสูตรยังคงดำเนินการอยู่
2 เพื่อหาทางปรับปรุงแก้ไขระบบการบริหารหลักสูตร การนิเทศกำกับดูแล
และการจัดกระบวนการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
3 เพื่อช่วยในการตัดสินใจของผู้บริหารว่าควรจะใช้หลักสูตรต่อไปอีก
หรือควรยกเลิกการใช้หลักสูตรเพียงบางส่วนหรือยกเลิกทั้งหมด
4 เพื่อต้องการทราบคุณภาพของผู้เรียนซึ่งเป็นผลผลิตของหลักสูตรว่ามีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปตามความมุ่งหวังของหลักสูตรหลังจากผ่านกระบวนการทางการศึกษามา
อย่างไรก็ตามการประเมินผลในลักษณะนี้จะดำเนินการในขณะที่มีการนำหลักสูตรไปใช้
หรือหลังจากที่ใช้หลักสูตรไปแล้วระยะหนึ่งก็ได้
ระยะของการประเมินหลักสูตร
ระยะที่ 1 การประเมินหลักสูตรก่อนนำหลักสูตรไปใช้ เมื่อสร้างหลักสูตรฉบับร่างเสร็จแล้ว
ก่อนจะนำหลักสูตรไปใช้จริงจึงควรมีการประเมินตรวจสอบคุณภาพ การประเมินระยะนี้ต้องอาศัยความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านพัฒนาหลักสูตร
ด้านเนื้อหา ด้านวิชาชีพครู ด้านวัดผล เป็นต้น
ระยะที่ 2
การประเมินหลักสูตรระหว่างการดำเนินการใช้หลักสูตร ในขณะที่กำลังมีการใช้หลักสูตร
ควรมีการประเมินเพื่อตรวจสอบว่าหลักสูตรนำไปใช้ได้ดีเพียงใด
จะได้แก้ไขปรับปรุงให้เหมาะสม
ระยะที่ 3
การประเมินหลักสูตรหลังการใช้หลักสูตร
หลังจากที่มีการใช้มาแล้วระยะหนึ่งหรือครบกระบวนการเรียบร้อยแล้ว
ควรจะประเมินหลักสูตรทั้งระบบเพื่อสรุปผลตัดสินว่าหลักสูตรที่จัดทำขึ้นนั้น
ควรจะใช้ต่อไป หรือปรับปรุงให้ดีขึ้น หรือควรจะยกเลิก
ที่ต้องประเมินในเรื่องหลักสูตร
1. การประเมินเอกสารหลักสูตร
เป็นการตรวจสอบคุณภาพขององค์ประกอบต่างๆของหลักสูตรว่า จุดหมาย จุดประสงค์
โครงสร้างเนื้อหาสาระ วิธีการวัดประเมินนักเรียน มีความสอดคล้อง เหมาะสม ครอบคลุม
ถูกต้องตามหลักการพัฒนาหลักสูตรหรือไม่เพียงใด และควรให้ผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ
เป็นผู้ประเมิน
1.1
การตรวจสอบโดยคณะพัฒนาหลักสูตร ในการทำหลักสูตรให้ถูกต้องและสมบูรณ์มากที่สุดหรือป้องกันการผิดพลาด
ควรมีการตรวจสอบภายในหรือประเมินเอกสารหลักสูตรเสียก่อนโดยคณะพัฒนาหลักสูตร
1.2
การตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ
หลังจากคณะพัฒนาหลักสูตรได้ตรวจสอบเอกสารหลักสูตรที่ร่างขึ้นเสร็จแล้ว
ขั้นต่อไปควรส่งให้ผู้เชี่ยวชาญทำการตรวจสอบและประเมินอีกครั้งหนึ่ง
2. การประเมินการใช้หลักสูตร
เป็นการตรวจสอบว่าหลักสูตรสามารถนำไปใช้ได้ดีกับสถานการณ์จริงเพียงใด
การจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรทำอย่างไร มีปัญหาอุปสรรคอะไรในการใช้หลักสูตร
เพื่อจะได้แก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น วีการประเมินอาจใช้การสังเกต สัมภาษณ์
และส่งแบบสอบถามให้ครูผู้สอน ผู้บริหาร นักเรียน ผู้ปกครอง เป็นต้น
3. การประเมินสัมฤทธิ์ผลของหลักสูตร
โดยทั่วไปจะดำเนินการหลังจากได้มีผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรนั้นๆไปแล้ว
การประเมินนี้จะจะทำการติดตามความก้าวหน้าของผู้สำเร็จการศึกษาว่าประสบความสำเร็จในงานเพียงใด
มันเป็นการตรวจสอบสัมฤทธิ์ผลทางวิชาการ และไม่วิชาการของผู้เรียน
4. การประเมินระบบหลักสูตร
เป็นการประเมินในลักษณะที่สมบูรณ์และมีความซับซ้อนมาก
กล่าวคือการประเมินหลักสูตรจะมีความเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหลักสูตรด้วย
เช่น ทรัพยากรที่ต้องใช้ ความสัมพันธ์ของระบบหลักสูตรกับระบบบริหารโรงเรียน
ระบบการจัดการเรียนการสอน ระบบวัดประเมินการเรียนการสอน เป็นต้น
ประโยชน์ของการประเมินหลักสูตร
1 ทำให้รู้ว่าหลักสูตรมีข้อดี ข้อเสียตรงไหน จะได้แก้ไขได้ถูกจุด
2 ข้อมูลที่ได้จากประเมิน จะช่วยในการวางแผนการสอน
3 ช่วยส่งเสริมการเรียนของผู้เรียน
4 ช่วยปรับปรุงการบริหารในสถานศึกษา
5 ช่วยในการแนะแนว
6 ช่วยชี้ให้เห็นคุณค่าของหลักสูตร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น