วันจันทร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2556

เนื้อหาสาระ(Content) กิจกรรมการเรียนรู้(Learning Activities)


หลักสูตรที่เน้นเนื้อหาวิชาเป็นศูนย์กลาง

๑.  หลักสูตรแบบรายวิชา   เก่าแก่ที่สุดและเป็นที่รู้จักกันดีที่สุด เชื่อว่าสิ่งที่ทำให้มนุษย์   แตกต่างจากสัตว์อื่นๆ ก็คือ สติปัญญาและการค้นคว้าหาความรู้ ไม่คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลและ    ผู้เรียน ความรู้ที่ได้แยกเป็นส่วนๆ เน้นที่ความจำ รายวิชาไม่สัมพันธ์กับชีวิตจริงของผู้เรียน นักเรียนเป็นผู้รับรู้ แต่เพียงอย่างเดียว
๒.  หลักสูตรแบบสาขาวิชา  ปัจจุบันยังคงมีใช้อยู่ในระดับประถม มัธยมศึกษาและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับอุดมศึกษา เน้นความรู้เฉพาะในสาขาวิชาของตน จะต้องศึกษาโครงสร้างพื้นฐานของสาขาวิชา    ผู้เรียนปรับตัวเข้าหาหลักสูตร สนใจแต่นักเรียนที่เก่ง ไม่สนใจข้อมูลอื่นที่ไม่สามารถจัดเข้าเป็นสาขาวิชาได้
๓.  หลักสูตรแบบรวมวิชา เป็นหลักสูตรแบบบูรณาการ รวมหรือผสมผสานรายวิชาที่เกี่ยวข้องกัน  ตั้งแต่ ๒ รายวิชาขึ้นไปเข้าเป็นสาขาวิชาเดียว (วิทย์ทั่วไป ประกอบด้วย คณิตศาสตร์ เคมี ชีววิทยา ฟิสิกส์)
๔. หลักสูตรแบบสัมพันธ์วิชาหรือสหสัมพันธ์  มีความสัมพันธ์กันระหว่างรายวิชานั้น ๆ หลักสูตรนี้ประสบความสำเร็จได้ยาก เพราะครูในชั้นเรียนประถม มักสอนคนเดียว ระดับมัธยม ครูสอนแยกแต่ละวิชาไม่มีเวลาพอที่จะทำงานเป็นทีมร่วมกับครูอื่นๆ


กิจกรรมการเรียนรู้
องค์ประกอบด้าน  การจัดการเรียนรู้นับว่าเป็นองค์ประกอบหลักที่แสดงถึงการเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรม ประกอบด้วย ความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายที่แท้จริงของการเรียนรู้ บทบาทของครู และบทบาทของผู้เรียน การจัดการเรียนการสอนโดยให้ผู้เรียนเป็นสำคัญจะทำได้สำเร็จเมื่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอน ได้แก่  ครู  และผู้เรียน มีความเข้าใจตรงกันเกี่ยวกับความหมายของการเรียนรู้  ดังสาระที่ ทิศนา  แขมมณี (2544) ได้กล่าวไว้ดังนี้
                   1. การเรียนรู้เป็นงานเฉพาะบุคคล ทำแทนกันไม่ได้  ครูที่ต้องการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ต้องเปิดโอกาสให้เขาได้มีประสบการณ์การเรียนรู้ด้วยตัวของเขาเอง
                   2. การเรียนรู้เป็นกระบวนการทางสติปัญญาที่ต้องมีการใช้กระบวนการคิด สร้างความเข้าใจ ความหมายของสิ่งต่างๆ  ดังนั้นครูจึงควรกระตุ้นให้ผู้เรียนใช้กระบวนการคิดทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ
                   3. การเรียนรู้เป็นกระบวนการทางสังคม  เพราะในเรื่องเดียวกัน อาจคิดได้หลายแง่  หลายมุมทำให้เกิดการขยาย  เติมเต็มข้อความรู้  ตรวจสอบความถูกต้องของการเรียนรู้ตามที่สังคมยอมรับด้วย  ดังนั้นครูที่ปรารถนาให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้จะต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับบุคคลอื่นหรือแหล่งข้อมูลอื่นๆ
                   4. การเรียนรู้เป็นกิจกรรมที่สนุกสนาน เป็นความรู้สึกเบิกบาน เพราะหลุดพ้นจากความไม่รู้  นำไปสู่ความใฝ่รู้ อยากรู้อีก เพราะเป็นเรื่องน่าสนุก ครูจึงควรสร้างภาวะที่กระตุ้นให้เกิดความอยากรู้หรือคับข้องใจบ้าง  ผู้เรียนจะหาคำตอบเพื่อให้หลุดพ้นจากความข้องใจ  และเกิดความสุขขึ้นจากการได้เรียนรู้  เมื่อพบคำตอบด้วยตนเอง
                   5. การเรียนรู้เป็นงานต่อเนื่องตลอดชีวิต ขยายพรมแดนความรู้ได้ไม่มีที่สิ้นสุด ครูจึงควรสร้างกิจกรรมที่กระตุ้นให้เกิดการแสวงหาความรู้ไม่รู้จบ
                   6. การเรียนรู้เป็นการเปลี่ยนแปลง เพราะได้รู้มากขึ้นทำให้เกิดการนำความรู้ไปใช้ในการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ เป็นการพัฒนาไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ครูควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้รับรู้ผลการพัฒนาของตัวเขาเองด้วย
จากความหมายของการเรียนรู้ที่กล่าวมา ครูจึงต้องคำนึงถึงประเด็นต่างๆ ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ดังนี้
(1) ความแตกต่างระหว่างบุคคลของผู้เรียน
(2) การเน้นความต้องการของผู้เรียนเป็นหลัก
(3) การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้เรียน
(4) การจัดกิจกรรมให้น่าสนใจ  ไม่ทำให้ผู้เรียนรู้สึกเบื่อหน่าย
(5) ความเมตตากรุณาต่อผู้เรียน




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น