วันจันทร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2556

มโนสำคัญเกี่ยวกับหลักสูตรและทฤษฎีหลักสูตร


               หลักสูตรเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ทำให้ปรัชญาหรือความมุ่งหมายทางการศึกษาบรรลุความมุ่งหมายเพราะหลักสูตรเป็นตัวกำหนดทิศทางการจัดการศึกษาของประเทศ อีกทั้งเป็นการกำหนดแนวทางในการพัฒนา ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ ทักษะ เจตคติและค่านิยมในอันที่จะนำประเทศไปสู่ความเจริญในทุกๆด้าน  จากความหมายของหลักสูตร ตามทัศนะของนักวิชาการทางการศึกษาดิฉันคิดว่าหลักสูตร หมายถึง ส่วนที่เป็นเนื้อหา สาระสำคัญ กิจกรรมต่างๆ ที่ออกแบบขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมาย ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ พัฒนาตนเองเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตามคุณลักษณะที่พึงประสงค์ และใช้ชีวิตอยู่ในสังคมอย่างปกติสุข โดยสรุปแล้วหลักสูตรมีความสำคัญเป็นอย่างมากในกระบวนการจัดการเรียนการสอน เพราะหลักสูตรบอกให้ทราบว่าผู้เรียนบรรลุจุดมุ่งหมายอย่างไร และจะต้องจัดเนื้อหาสาระอย่างไร เครื่องมือวัดผลประเมินผลอย่างไร  ดังนั้นหลักสูตรจึงเป็นหัวใจของการจัดการเรียนการสอน และเป็นตัวกำหนดแนวทางในการจัดการศึกษาเพื่อนำไปสู่ความมุ่งหมาย ตามแผนการศึกษาแห่งชาติ และเป็นไปตามที่สังคมต้องการ องค์ประกอบของหลักสูตร ประกอบด้วย  จุดมุ่งหมาย เนื้อหาสาระ  การนำไปใช้ และการประเมินผล
               ทฤษฎีหลักสูตรเป็นเรื่องใหม่ของวงการศึกษาทฤษฎีหนึ่ง และเป็นส่วนหนึ่งของทฤษฎีการศึกษาดังได้กล่าวมาแล้ว แต่ความกว้างขวางของการใช้ทฤษฎีหลักสูตรในวงการศึกษายังมีไม่มากนัก จนในบางครั้งนักการศึกษาและนักพัฒนาหลักสูตรลืมไปว่า การจัดทำหลักสูตรไม่จำเป็นต้องอาศัยทฤษฎีหลักสูตร เพราะถือกันว่า การจัดทำหลักสูตรเป็นเรื่องของกระบวนการ ก่อนอื่นจะต้องทำความเข้าใจคำว่า ทฤษฎีคืออะไร
                เฮอร์เบอร์ท ไฟเจล (Herbert Feigl อ้างจาก เจริญผล สุวรรณโชติ 2530 : 4) กล่าวว่า ทฤษฎี คือ การกำหนดข้อสันนิษฐานซึ่งได้รับมาจากวิธีการของตรรกวิทยาคณิตศาสตร์ ทำให้เกิดกฎเกณฑ์ที่ได้มาจากการทดลอง และการทดลองมิใช่เกิดจากการเรียนรู้จากที่หนึ่งที่ใด
               โลแกน และโอลม สเตด (Logan and Olmstead อ้างถึง สันต์ ธรรมบำรุง 2527 : 97) ได้ให้ความหมายว่า ทฤษฎี หมายถึงข้อความหนึ่งข้อความใดที่กำหนดไว้อย่างมีเหตุผล เช่อถือได้ และได้มีการถกถียงกันมาก่อน ก่อนที่จะลงความเห็นว่าสมควรที่จะกำหนดเรียนว่า ทฤษฎี
               เฟรด เคสลินเกอร์ (Fred N. Keslinger อ้างถึง สันต์ ธรรมบำรุง , 2527 : 97) “ทฤษฎี คือ การผสมผสานของความคิดรวบยอดที่แสดงให้เห็นถึงปรากฏการณ์ที่มีระบบ และเกิดความจริงจนสามารถพิสูจน์ได้
               สำหรับทฤษฎีหลักสูตร อาจจะเป็นสิ่งที่นักการศึกษาไม่คิดว่า ทฤษฎีหลักสูตรนั้นเป็นสิ่งที่นักศึกษาจะต้องยึดถือเมื่อมีการพัฒนาหลักสูตรในแต่ละครั้ง ด้วยหลักการของการกำหนดทฤษฎี ทฤษฎีหลักสูตรจะเกี่ยวข้องกับสิ่งสำคัญ 2 ประการ คือรากฐานในการวางหลักสูตร หลักการและวิธีการในการวางหลักสูตร
สรุป
ทฤษฎีหลักสูตร เป็นแนวคิดใหม่ที่นักพัฒนาหลักสูตรได้นำมาใช้ ทฤษฎีหลักสูตรเป็นการผสมผสานทฤษฎีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเข้ามาไว้ด้วยกัน กำหนดขึ้นเพื่อการนำมาใช้ในการพัฒนาหลักสูตร ทฤษฎีหลักสูตรจึงเป็นการพิจารณานำเอาพัฒนาการของมนุษย์นำเข้ามาใช้ เป็นการจัดและแยกประเภทของเหตุการณ์ต่างๆ และโยงความสัมพันธ์กับเหตุการณ์นั้นนำเอามาใช้ และพิจารณาโครงสร้างและเนื้อหาวิชาที่เหมาะสม นำมาบรรจุไว้ในหลักสูตรด้วยการคำนึงถึงความสอดคล้องตามสภาพการณ์ต่างๆ ทั้งในส่วนของผู้เรียนและในส่วนของสังคม การนำทฤษฎีหลักสูตรไปใช้จะประกอบด้วยการจัดประเภท การวางแผนการประเมินค่า และการปฏิบัติ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น